หมอหวาน รอดม่วง
หมอหวาน รอดม่วง เกิดเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๑๓ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ ในอดีต หมอไทยแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ หมอหลวง ซึ่งรักษาในราชสำนัก และหมอเชลยศักดิ์หรือหมอราษฎร ซึ่งรักษาประชาชนทั่วไป หมอหวานเป็นหมอเชลยศักดิ์ แม้มิได้สังกัดกรมหมอหลวง แต่ได้มีโอกาสถวายการรักษาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ อัครมหาเสนาบดี ในรัชกาลที่ ๖ โดยหมอหวานได้รับประทานกล่องเครื่องประดับจากม.จ.หญิงพิจิตรจิราภา เทวกุล พระธิดา เป็นที่ระลึกจากการถวายการรักษาเมื่อครั้งที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ประชวรครั้งสุดท้าย
กล่องเครื่องประดับที่หมอหวานได้รับประทานจากม.จ.หญิงพิจิตรจิราภา เทวกุล พระธิดา ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ที่ฝากล่องด้านใน ปรากฏลายพระหัตถ์ เป็นข้อความว่า
๓ สิงห์ ๖๖
เดิมหมอหวานมีร้านขายยาชื่อ ร้านจำหน่ายยาไทยตราเฉลว อยู่ริมถนนเจริญกรุงติดสี่แยกอุณากรรณ จวบจนปีพ.ศ. ๒๔๖๖ หมอหวานได้ย้ายไปอยู่ตึกใหม่ที่สร้างขึ้นบนถนนบำรุงเมือง ถัดจากสี่แยกมาหนึ่งช่วงห้องแถว และให้ชื่อร้านใหม่ว่า บำรุงชาติสาสนายาไทย
แผนที่สมัยรัชกาลที่ ๕ บริเวณถนนเจริญกรุงตัดกับถนนอุณากรรณ ร้านจำหน่ายยาไทยตราเฉลว คือร้านที่ ๓ ถัดจากหัวมุม ตามที่หมอหวานระบุในเอกสารกำกับยา
ที่มาของภาพ: หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีพระพุทธศักราช ๒๔๖๖ นับเป็นปีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อหมอไทยจำนวนมาก มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการแพทย์ฉบับแรกขึ้น ด้วยความห่วงใยของภาครัฐที่มีต่อความปลอดภัยของอาณาประชาราษฎร์ ให้”ปลอดภัยจากการประกอบโรคศิลปะโดยผู้ที่ไร้ความรู้และมิได้ฝึกหัด" ผู้ที่จะประกอบอาชีพแพทย์ได้จะต้องมีประกาศนียบัตรและขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาตจากทางการ จึงจะสามารถรักษาคนไข้ได้
แม้พระราชบัญญัติดังกล่าวจะมีคุณอเนกอนันต์ต่อการพัฒนาด้านการแพทย์และการสาธารณสุข แต่ในทางกลับกันได้สร้างผลกระทบอันใหญ่หลวงต่อหมอไทยจำนวนมาก เนื่องจากการเรียนการสอนแพทย์แผนไทยในสมัยก่อน ส่วนใหญ่เป็นการเรียนแบบศิษย์ติดตามครู ผู้ที่สนใจอยากเป็นหมอ ต้องฝากตัวเป็นศิษย์กับหมอที่ตนเลื่อมใสศรัทธา ติดตามรับใช้เป็นลูกมือให้กับท่าน จนเมื่อเก่งกล้าสามารถจึงเป็นหมอรักษาคนไข้ได้ หมอไทยส่วนมากจึงไม่มีประกาศนียบัตรหรือใบรับรองวิทยฐานะ
แต่เนื่องจากความไม่พร้อมในด้านการเรียนการสอน การสอบ และการประชาสัมพันธ์ ผลจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติการแพทย์นี้ จึงทำให้หมอแผนไทยหรือหมอพื้นบ้านที่ไม่มีประกาศนียบัตรกลายเป็นหมอนอกระบบไปทันที หมอไทยจำนวนมากหวาดกลัวความผิด จึงไม่กล้ารับรักษาคนไข้ บ้างเลิกอาชีพ บ้างเผาตำราทิ้ง๑ ในยุคนี้เอง เกิดคำว่า “ยาผีบอก” แพร่หลายขึ้น คือเมื่อคนไข้รับยาจากหมอ ก็ห้ามบอกตำรวจว่าได้จากหมอคนใด
หลังจากพระราชบัญญัติการแพทย์ พ.ศ.๒๔๖๖ ประกาศใช้ ในปีต่อมา หมอหวานได้ย้ายมาอยู่ทีตึกสร้างใหม่ที่ชื่อ บำรุงชาติสาสนายาไทย โดยยังคงรับรักษาคนไข้ และจำหน่ายยาไทยต่อไป หมอหวานเป็นผู้มีความรู้ทั้งด้านการแพทย์แผนไทยและแผนตะวันตก แม้จะจำหน่ายยาไทย แต่ก็มีอุปกรณ์เครื่องใช้และเครื่องปรุงยาแผนตะวันตก อาทิ หูฟังเสียงหัวใจ หลอดทดลอง หม้อกลั่นยา ตะเกียงแอลกอฮอล์ และตัวยาหรือสารสกัดยาตะวันตก ในร้านยาไทยของหมอหวาน ไม่ปรากฏลิ้นชักเครื่องยาสำหรับให้คนไข้เจียดยาไปต้มรับประทาน ยาทั้งหมดเป็นยาไทยปรุงสำเร็จ สะดวกต่อการรับประทานเช่นเดียวกับยาฝรั่ง บรรจุในขวดยาแบบฝรั่งที่นำเข้าจากต่างประเทศ
หูฟังเสียงหัวใจและปรอทวัดไข้ของหมอหวาน
อุปกรณ์สำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการของแพทย์แผนตะวันตกของหมอหวาน
ยาไทยในขวดยาฝรั่งซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศ
ขวดบรรจุสารสกัดและตัวยาแผนตะวันตก
กิจการร้านขายยา “บำรุงชาติสาสนายาไทย” ของหมอหวาน ดำเนินเรื่อยมาจนหมอหวานสิ้นอายุในปีพ.ศ.๒๔๗๘ บุตรสาวของหมอหวาน เฉื่อย วรโภค ซึ่งเป็นเภสัชกรแผนไทยได้สืบทอดกิจการต่อมา
เภสัชกรแผนไทย เฉื่อย วรโภค
และส่งต่อให้แก่ทายาทรุ่นที่ ๓ เภสัชกรไทย ออระ วรโภค ซึ่งรับราชการที่คณะเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลศิริราช ในปีพ.ศ.๒๕๒๗
แม้ความนิยมในยาไทยจะลดลงอย่างต่อเนื่องตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไป จากอดีตที่เคยปรุงยาจำหน่ายนับร้อยตำรับ เหลือเพียงยาหอม ๔ ตำรับ แต่กิจการร้านขายยาของหมอหวานก็ยังคงดำรงอยู่ ในปีพ.ศ.๒๕๕๑ ภาสินี ญาโณทัย ทายาทรุ่นที่ ๔ ได้เข้ารับช่วงดำเนินกิจการต่อมา
ปัจจุบัน อาคาร “บำรุงชาติสาสนายาไทย” ยังคงทำหน้าที่เป็นร้านขายยาไทย สืบทอดตำรับยาและเจตนารมณ์ของหมอหวาน รอดม่วง ในการดำรงภูมิปัญญายาไทยให้อยู่คู่สังคมต่อไป และฉายภาพร้านขายยาไทยในอดีตผ่านการเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในย่านพระนคร
-------------------------------------------------------------
๑ รองศาสตราจารย์ประทีป ชุมพล “อิทธิพลการแพทย์แผนตะวันตกสมัยล่าอาณานิคมกับความหายนะของการแพทย์แผนไทย” ประวัติ ปรัชญา นายแพทย์ และตำรายาในแพทย์แผนไทย. (กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์ ๒๕๕๖) หน้า ๖๘
๒ รองศาสตราจารย์ประทีป ชุมพล ๒๕๕๔ “ยุคมืดทางปัญญาของการแพทย์แผนไทย (ตอนที่ ๑)” (ออนไลน์). คนสุวรรณภูมิ. สืบค้นจาก: https://mgronline.com/daily/detail/9540000042918