พรมมิ
พรมมิ - เครื่องยาแก้ไข้สวิงสวาย เจริญปัญญา
พรมมิเป็นไม้ขนาดเล็ก มักขึ้นตามชายน้ำ หนอง บึง หรือที่ชุ่มน้ำ เติบโตง่าย ชอบแดด ลักษณะต้นอวบน้ำ มีดอกเล็กๆ สีม่วงอ่อน สวยงาม จึงมีผู้นิยมนำไปเลี้ยงในกระถางเป็นไม้ประดับ
แท้จริงแล้ว พรมมิเป็นเครื่องยาในตำรับยาอายุรเวทและยาไทยมาแต่โบราณ ปรากฏหลักฐานการใช้พรมมิในตำราพระโอสถพระนารายณ์ ซึ่งบันทึกในสมัยอยุธยา เป็นตำรับยาประกอบยาแก้ไข้ ๒ ตำรับ ตำรับหนึ่ง คือ “ยามโหสถธิจันทน์” ซึ่งแก้ไข้สันนิบาตที่มีไข้สูง กรณีมีอาการลิ้นหด พูดไม่สะดวก ให้ใช้ยาตำรับนี้เป็นยาประกอบ
“ถ้าแลไข้นั้นให้ลิ้นหด เจรจามิชัด ให้เอาใบผักคราดใบแมงลัก พรมมิ ข่าตาแดง สารส้ม เกลือเทศ เสมอภาค น้ำร้อนเป็นกระสาย บดทำแท่ง ละลายน้ำมะนาว รำหัดพิมเสนลง ทาลิ้นแล้วนวดต้นลิ้น ลิ้นหดเจรจามิชัดหายแล ฯ”
ส่วนในยาแก้ไข้อีกตำรับหนึ่ง ชื่อ “ยาแก้วหาค่ามิได้” เป็นยาแก้ป้าง หรือไข้จับสั่นชนิดเรื้อรัง แก้ท้องมาน จุกกระผาม ม้ามย้อย ลมจุกเสียดหาวเรอ และลมท้นท้อง แก้อาการสตรีที่ขัดระดู โลหิตค่น โลหิตแค่น โลหิตกรัง ตำรับนี้ ใช้รากพรมมิ
“ยาแก้วหาค่ามิได้ ให้เอารากทนดีใบแฉก รากหิงหาย รากพรมมิ สมอทั้ง ๓ กำทวด แปรเอาเนื้อ ฝักราชพฤกษ์ รากสคุย ขันทศกร ยา ๑๐ สิ่งนี้เสมอภาค แช่มูตรโคดำไว้ ๗ วัน จึงตากแดดจงแห้ง แล้วเอายางสลัดไดแห้งเท่ายาบดจงเลอียด ปรุงชมดเชียง พิมเสนลงพอควร โรยกลีบจำปาก็ได้ ต้มลง ดีนักแลฯ”
เนื่องจากพรมมิมีรสขม หมอพื้นบ้านจึงใช้เป็นเครื่องยาในการปรุงยาเขียว ซึ่งเป็นยาฤทธิ์เย็น แก้ไข้ ใช้ดับพิษไข้หัว หรือพิษฝีดาษ ส่วนในพระคัมภีร์สรรพลักษณสรรพคุณแลมหาพิกัด ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ ระบุว่า “แก้ไข้สวิงสวาย (อาการที่เป็นลม ทำให้หน้ามืด ตาลาย ใจหวิว หรือกระสับกระส่าย) แก้หืดไอ แก้ฤษดวง กินเจริญปัญญาด้วย”
ด้วยสรรพคุณดังกล่าว พรมมิจึงเป็นเครื่องยาหนึ่งในตำรับยาหอมสว่างภพ ซึ่งเป็นยาหอมแก้ลมกองละเอียด เน้นในส่วนศีรษะ ช่วยการไหลเวียนของโลหิตและลมเบื้องสูง แก้วิงเวียน หน้ามืด เป็นลม แก้ปวดศีรษะ ปวดไมเกรน เหนื่อย อ่อนเพลีย ใจสั่น เพราะทำงานหนัก คลายเครียด บำรุงสมอง และช่วยการมองเห็นในผู้สูงอายุ